วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

สานฝันเด็กไทยผ่านนวัตกรรม สู่ Thailand 4.0

วิทย์ 3 DSC_0060
งานวันเด็กปีนี้กระทรวงวิทย์จับมือ
พันธมิตรชูแนวคิด “นักวิทย์น้อย ตามรอยพระบิดาวิทยาศาตร์ไทย”
   รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2561 นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านวิทยาศาสตร์ บนถนนพระรามที่ 6 และถนนโยธีจัดงาน“ถนนสายวิทยาศาสตร์” ภายใต้แนวคิด “นักวิทย์น้อย ตามรอยพระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย”ระหว่าง 11-13 ม.ค.ตั้งแต่เวลา 9.00 น.จนถึง 17.00 น.
รศ.นพ.สรนิตกล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มองว่าการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)มีความสำคัญอย่างมากต่อการนำประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ บนพื้นฐานของสังคมแห่งการเรียนรู้ และสังคมที่มีเหตุมีผล พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการใฝ่เรียนใฝ่รู้ และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรม เปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมฐานนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ไว้ว่า “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี”แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมแห่งนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยก้าวสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายของไทยแลนด์ 4.0
     “งานถนนสายวิทยาศาสตร์”เป็นกิจกรรมสำคัญที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อมุ่งหวังกระตุ้นและจุดประกายให้เด็กและเยาวชนไทย หันมาสนใจเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยถือเอาวันเด็กแห่งชาติของทุกปีเป็นวาระสำคัญในการจัดงานกิจกรรมนี้ โดยปีนี้มีการสร้างสรรค์นิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “นักวิทย์น้อย ตามรอยพระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย”เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 150 ปี สุริยุปราคาหว้ากอเต็มดวงครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการจัดสถานีทดลองต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเรื่องดาราศาสตร์ อาทิ นิทรรศการ 150 ปี สุริยุปราคาหว้ากอ และการจัดกิจกรรมการสังเกตดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิดและหลายรูปแบบในการสังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งกิจกรรมเกมทางดาราศาสตร์นิทรรศการดวงอาทิตย์ VS ดวงจันทร์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องอิทธิพลของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก และทำกิจกรรมในลักษณะ Hands on ในการทำปฏิทินจันทรคติและนาฬิกาแดดกิจกรรม นาฬิกา…Scienceเรียนรู้ประวัติของเวลาในประเทศไทย พบกับวิวัฒนาการของนาฬิกาจากอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมรู้จักที่มาของ ทุ่ม โมง ตี และท้าทายความสามารถของน้องๆ ด้วยการทำเครื่องจับเวลา กิจกรรมผีเสื้อโบยบินเพื่อเรียนรู้อิทธิพลของดวงอาทิตย์ที่มีต่อพฤติกรรมผีเสื้อกลุ่มโมนาร์ชและอีกหลากหลายกิจกรรม
    สำหรับสถานีของพันธมิตร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเปิดสถานีมาตรฐานน่ารู้ สนุกกับเกมที่ให้เด็กๆ ได้เล่น เพื่อรู้จักเครื่องหมาย มอก. ทั้ง 3 แบบ (มาตรฐานทั่วไป มาตรฐานบังคับ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) และกิจกรรมระบายสีสำหรับเด็กเล็ก/ “สังเกตเครื่องหมายมาตรฐานก่อนซื้อสินค้า เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รู้จักเครื่องหมายมาตรฐานแต่ละแบบกรมทรัพยากรธรณีโดยพิพิธภัณฑ์แร่ – หิน จัดกิจกรรมแข่งแรลลี่ภายในพิพิธภัณฑ์ และเกมหาคำตอบจากคำถามเปิดสถานีเฉพาะในวันเสาร์ที่ 13 มกราคมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้พบกับบรรยากาศของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยนอกจากจะได้รับความรู้และความบันเทิงแล้วยังได้รับของรางวัลมากมาย พร้อมรับสิทธิ์ชิงรางวัลใหญ่ ภายในงาน
    ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่าอพวช. เป็นหน่วยงานหลักจัดงานในครั้งนี้ ได้เตรียม Passport เป็นหนังสือเดินทางบนถนนสายวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายความสามารถของน้องๆ ในการเดินทางและเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ให้ครบทุกสถานี เพื่อรับรางวัลต่างๆ ที่ซุ้มรับรางวัลของ อพวช. ซึ่งจัดเตรียมไว้อย่างมากมายพร้อมขอเชิญชวนน้องๆ เยาวชน และโรงเรียนที่สนใจสามารถมาเที่ยวชมงานถนนสายวิทยาศาสตร์ รับวันเด็กแห่งชาติ 2561ได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 11–วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2561เวลา 09.00 – 17.00 น. ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้สามารถเดินทางได้ทั้งรถประจำทาง และรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดเตรียมรถตู้ไว้คอยบริการ รับ-ส่ง ณ สถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเที่ยวชมงาน
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย อพวช. ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561อีกหลายแห่งประกอบด้วย ในวันศุกร์ที่ 12 – วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม ณ ห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ จังหวัดนครราชสีมา เวลา 10.00 – 18.00 น. วันเสาร์ที่ 13 มกราคมณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี เวลา 09.00 -17.00 น. วันเสาร์ที่ 13 – วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคมเวลา 10.00 – 18.00 น. จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่านใกล้ที่ไหนไปที่นั่น สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2577 9960
  อ้างอิงhttp://bangkok-today.com

   เด็กไทยยุค 4.0 อยากทำอาชีพอิสระ     FacebookTwittGoogle+LinePinterest




ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เด็กไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 10 มกราคม 2561 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเด็กไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0 การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกินร้อยละ 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงอาชีพในฝันที่เด็กและเยาวชนอยากเป็น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 (5 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 20.62 ระบุว่าเป็น อาชีพส่วนตัว  อิสระ รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 11.34 ระบุว่าเป็น อาชีพครู อาจารย์ อันดับ 3 ร้อยละ 9.28 ระบุว่าเป็น อาชีพแพทย์พยาบาล รับราชการทหาร และวิศวกร สถาปนิก นักออกแบบดีไซน์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 4 ร้อยละ 7.22 ระบุว่าเป็น อาชีพตำรวจ และนักธุรกิจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และอันดับ 5 ร้อยละ 5.15 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) และนักบัญชี การเงิน ธนาคาร การตลาด ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับอาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานเป็น ในยุคไทยแลนด์ 4.0 (5 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 21.25 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 16.39 ระบุว่าเป็น อาชีพแพทย์ พยาบาล อันดับ 3 ร้อยละ 11.36 ระบุว่าเป็น อาชีพส่วนตัว  อิสระ อันดับ 4 ร้อยละ 9.71 ระบุว่าเป็น อาชีพครู อาจารย์ และอันดับ 5 ร้อยละ 6.42 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการทหาร สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับความแตกต่างของเด็กในยุคนี้เมื่อเทียบกับเด็กในสมัยก่อน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.56 ระบุว่า เด็กในยุคนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับมือถือหรือคอมพิวเตอร์มากกว่าการออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านเหมือนเด็กสมัยก่อน
รองลงมา ร้อยละ 42.03 ระบุว่า เด็กในยุคนี้มีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 31.47 ระบุว่า เด็กในยุคนี้ขาดการอดทนหรือรอคอย เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็วกว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 29.62 ระบุว่า เด็กในยุคนี้ขาดระเบียบวินัยมากกว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 23.30 ระบุว่า เด็กในยุคนี้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้รวมถึงสื่อต่างๆ ได้ง่ายกว่าเด็กสมัยก่อน ร้อยละ 17.05 ระบุว่า เด็กในยุคนี้มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าเด็กสมัยก่อน และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
ท้ายสุด เมื่อถามถึงคุณสมบัติที่ดีของเด็กไทย ในยุคไทยแลนด์ 4.0 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.64 ระบุว่า มีคุณธรรมจริยธรรม ช่วยเหลือสังคม ไม่เห็นแก่ตัว รองลงมา ร้อยละ 35.92 ระบุว่า มีระเบียบวินัย เคารพกฏระเบียบ ร้อยละ 31.04 ระบุว่า มีความอดทน อดกลั้น ร้อยละ 26.16 ระบุว่า รู้จักการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ ข้อมูลที่ได้รับ ร้อยละ 17.60 ระบุว่า มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี ร้อยละ 17.36 ระบุว่า ไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโลกอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 14.64 ระบุว่า มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ร้อยละ 13.52 ระบุว่า หมั่นศึกษา หาข้อมูลหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเรียน ร้อยละ 2.40 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ มีความกตัญญูต่อบิดามารดา มีมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตน รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และมีความพอเพียง ประหยัด อดออม และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.92 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.36 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.12 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.12 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.80 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 7.76 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 17.36 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.68 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.88 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 20.32 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 7.76 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 92.56 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.04 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.76 นับถือศาสนาคริสต์ ฮินดู ซิกข์ ยิว ไม่นับถือศาสนาใด ๆ
และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.08 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 69.92 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.20 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.80 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.92 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.60 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.20 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.16 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.44 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 11.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.20 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.88 ประกอบอาชีพเกษตรกร ประมง ร้อยละ 13.04 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.48 เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ ว่างงาน ร้อยละ 3.60 เป็นนักเรียน นักศึกษา และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 12.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.00 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.72 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 11.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.48 ไม่ระบุรายได้
      อ้างอิง http://www.springradio.in.th/contents/4080

คุณลักษณะเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ความต้องการกำลังคนยุค 4.0 หลัก 3RS X 8CS เด็กไทยในฝัน

คุณลักษณะเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ความต้องการกำลังคนยุค 4.0 หลัก 3Rs x 8Cs เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา3Rs = การอ่านออก/ การเขียนได้/ การคิดเลขเป็น
8Cs = คิดอย่างมีวิจารณญาณและมีทักษะในการแก้ปัญหา/ ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม/ ทักษะความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ/ ทักษะด้านความเข้าใจความต่างของวัฒนธรรม กระบวนทัศน์/ ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและการสื่อสาร/ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร/ ทักษะอาชีพและการเรียนรู้/ ความมีเมตตา วินัย คุณธรรมและจริยธรรม
ข้อมูลโดย : สภาการศึกษา

  อ้างอิง http://www.krusmart.com/student-3rs8cs/



ชูแนวคิด ‘รู้รอดปลอดภัย เด็กไทย 4.0’ ดูแลสุขภาพปลอดภัยจากโรค-เหตุฉุกเฉิน


สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ จัดงานวันเด็กชูแนวคิด “รู้รอดปลอดภัย เด็กไทย 4.0” หวังให้เด็กไทยมีความรู้ ดูแลตนเอง เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ตอบรับกระแสสังคมผู้สูงอายุในอนาคต


เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ได้ร่วมกับ รพ.ราชวิถี จัดงานวันเด็กแห่งชาติภายใต้แนวคิด “รู้รอดปลอดภัย เด็กไทย 4.0” ขึ้นมา ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เด็กๆ จะได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรค และรู้จักเอาตัวเองให้รอดปลอดภัยจากสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้ รวมทั้งสามารถแจ้งเหตุเรียกขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านเลขหมายฉุกเฉิน 1669 ได้
“เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เด็กๆ ในวันนี้เขาก็จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งนี้กิจกรรมที่จัดทำในวันนี้ จะสอนให้เด็กๆ รู้จักที่จะดูแลและรักษาสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เรื่องของวิธีการเอาตัวรอดให้ปลอดภัยจากโรคและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ผู้ใหญ่ควรจะปลูกฝังสิ่งดีๆ เหล่านี้ เพื่อในอนาคต เด็กๆ จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง ปลอดจากโรค เมื่อเป็นผู้สูงอายุก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ไม่เป็นภาระแก่สังคม” นพ.สันต์ กล่าว
ด้าน พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.ราชวิถีได้จัดกิจกรรมวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาลมาทุกปี แต่ในปีนี้ทาง รพ.ราชวิถีได้เชิญสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยมาเข้าร่วมในการจัดกิจกรรมในปีนี้ สืบเนื่องจากว่า ในการจัดกิจกรรมเข้าค่ายรู้รอดปลอดภัยของสมาคมเวชศาสตร์ฯที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเยาวชนและโรงเรียน ทาง รพ.ราชวิถีจึงได้นำกิจกรรมที่เคยจัดในค่ายฯมาจัดแสดงและให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนที่มาร่วมงานในวันเด็กแห่งชาติในปีนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยหวังว่า เด็กไทยในยุค 4.0 จะต้องรู้จักวิธีเอาตัวรอดได้
ส่วนกิจกรรมที่ในวันนี้คือ กิจกรรมถาม-ตอบ, เล่นเกม ซึ่งเด็กๆ ที่มาร่วมงาน รวมทั้งผู้ปกครองจะได้รับความรู้ติดตัวกลับไป เช่น ทำไมถึงต้องล้างมือและวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง การประเมินความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง การแจกของรางวัลต่างๆ นอกจากนี้ ความพิเศษของปีนี้คือ เด็กๆ ได้เรียนรู้บนรถฉุกเฉิน เกี่ยวกับการโทรแจ้งเหตุและการให้ทางรถฉุกเฉิน เป็นต้น



       อ้างอิง https://www.hfocus.org/content/2018/01/15238

    วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ 3 สถาบันจุฬา-รามา- ศิริราช จัดโครงการความร่วมมือเพื่อเด็กไทยคุณภาพดี 4.0 “อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก” ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กสทช. โดยมี กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา พร้อมด้วยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ศ. นพ. ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้บริหารและพนักงาน กสทช. เข้าร่วมงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันของ 4 หน่วยงานในการให้ข้อมูลความรู้การเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่ดีเติบโตตามวัย ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการทั้งทางด้านกิจการโทรคมนาคม และด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ “อย่าปล่อยให้จอเลี้ยงลูก” ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ จัดทำแนวทางปฏิบัติในการนำเสนอรายการโทรทัศน์โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมวิชาชีพ สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว การติดสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ Warning บนกล่องอุปกรณ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครอง ตระหนักว่าไม่ควรให้เด็กอายุ 0-2 ปี ใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวโดยหวังให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากการเลี้ยงลูกผ่านจอผ่านไปยังกลุ่มผู้ปกครองอย่างกว้างขวางมากขึ้น


        อ้างอิง  https://www.nbtc.go.th


    “บอร์ดเกม”เทรนด์ใหม่ สร้างปัญญาเด็กไทยยุค 4.0

         เป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่ “บอร์ดเกม” เปิดตัวให้กับสมาชิกรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ หรือทั้งเด็กและผู้ปกครองของ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ได้ทำความรู้จักทุกๆ วันเสาร์ที่ 2 ของเดือน ซึ่งที่มาของรูปแบบการ์ดเกมดังกล่าว เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง TK park และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้นำรูปแบการเล่นดังกล่าวมาปรับใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา กระทั่งต้องการเผยแพร่ให้กับหน่วยงานและผู้สนใจได้นำมาเรียนรู้และฝึกทักษะสมอง และส่งเสริมความสัมพันธ์ครอบครัว

  •       บอร์ดเกม...การเล่นในรูปแบบกระดาน มีวิธีการเล่นที่แตกต่างหลากหลายรูปแบบ หรือคล้ายคลึงกับเกมเศรษฐีที่เด็กๆ เคยเล่น คือทอยลูกเต๋าเพื่อแข่งกันเดินไปถึงเส้นชัยและหาผู้ชนะ กระทั่งการหงายการ์ดไพ่ที่วาดเป็นรูปต่างๆ และให้ผู้เล่นแยกหยิบตัวการ์ตูนไม่มีในไพ่มาไว้ที่ตัวใครหยิบได้ก่อนก็จะได้คะแนนมาสะสมหาผู้ชนะ โดยจะมีผู้ที่เป็นกรรมการคอยจดแต้มคะแนนไว้ ประโยชน์จากการเล่นเกมดังกล่าวทำให้เด็กๆ ที่ไม่รู้จักกันหันมาพูดคุยทำความรู้จัก หรือเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกคำนวณ การบริหารจัดการใช้ทรัพยากร และรู้จักแก้ปัญหา เช่น “เกมค้าเพชร” โดยกำหนดให้เหมืองเพชรมี 15 แต้ม จากนั้นจะให้ผู้เล่นหยิบเหรียญอัญมณีได้คนละ 3 เหรียญ ซึ่งจะมีแต้มที่ต่างกัน เช่น บางเหรียญมี 1 หรือ 2 หรือ 3 แต้ม จากนั้นก็จะต้องนำไปแลกซื้อการ์ดเหมืองเพชรในแต่ละด่านที่มีราคาแตกต่างกัน เช่น บางด่าน 4 หรือ 5 คะแนน กระทั่งซื้อเหมืองเพชรได้ในราคา 15 แต้มก่อนคนอื่น ซึ่งระหว่างนั้นผู้เล่นจะต้องหลอกล่อเพื่อนให้ซื้อของอย่างอื่นที่ไม่ตรงกับเรา เป็นการฝึกไหวพริบปฏิภาณ
    ผู้ที่สนใจและไม่ได้เป็นสมาชิก TK park สนนราคาของบอร์ดเกมทั่วไปจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 500-3,000 บาท หรือหากเล่นในร้านบอร์ดเกมคาเฟ่จะตกอยู่ที่ชั่วโมงละประมาณ 40-50 บาท แม้จะเป็นเกมที่ช่วยฝึกสมอง ทำให้เด็กกล้าเข้าสังคมมากขึ้น แต่ราคาที่ค่อนข้างสูง กระทั่งผู้ปกครองรายได้ปานกลางเป็นกังวลว่าเด็กจะเข้าถึงได้ยากหรือไม่นั้น…ธัญสร จันทตรัตน์ นักจัดการความรู้ ฝ่ายกิจกรรม สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park บอกว่า หากผู้ปกครองเปิดใจกับเกมใหม่ล่าสุดนี้ ก็สามารถประยุกต์เพื่อทำให้เด็กเล่นที่บ้าน โดยเฉพาะบอร์ดเกมที่ชื่อว่า “ดาวินชี” (Davinci)
    “ช่วงที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาครั้งแรก ผู้ปกครองร้อยละ 90 ไม่รู้จักบอร์ดเกม แต่หลังจากมาร่วมกิจกรรมบ่อยขึ้น ตอนนี้พ่อแม่ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ให้การตอบรับที่ดี ซึ่งในจำนวนนี้เริ่มให้ลูกเล่นเกมบันไดงูแล้ว บอกได้เลยว่าพ่อแม่ที่เปิดใจยอมรับเกมกระดานนี้ และใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับบอร์ดเกมร่วมกับลูกๆ โดยที่ไม่ต้องมีความรู้สูง ก็สามารถประยุกต์เกม “ดาวินชี” ให้ลูกเล่นได้โดยไม่ต้องซื้อ โดยการตัดกระดาษ A4 เป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ จากนั้นให้เขียนเลข 0-11 โดยให้ลูกถือป้ายตัวเลขคนละ 3 ป้าย ยกตัวอย่าง ลูกคนที่ 1 ได้ป้าย 2, 4, 6 ส่วนลูกคนที่ 2 ได้ป้าย 3, 5, 7 และ 1, 4, 8 ตามลำดับ จากนั้นคุณแม่ให้ลูกทั้ง 3 คนชูป้ายขึ้นมาคนละ 1 อัน เพื่อเฉลยว่าใครได้เลขอะไรในรอบแรก ส่วนรอบที่ 2 ให้เด็กสลับกันทายว่าป้ายที่เหลือ ใครจะได้เลขอะไร โดยมีคุณแม่คอยจดแต้ม ซึ่งหากใครถูกเดาหมดก่อนก็จะเป็นผู้แพ้ เกมนี้เป็นการฝึกนับเลขให้กับเด็กเล็กไปในตัว ซึ่งคุณครูจิตอาสาในชุมชนต่างๆ และครูต่างจังหวัดสามารถนำไปทำให้เด็กๆ เล่นได้ในช่วงของการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งเกมประยุกต์นี้ เล่นได้ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงคนอายุมาก หรือตั้งแต่อายุ 3-99 ปี สรุปได้ว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวหาเช้ากินค่ำก็เล่นได้ค่ะ หากผู้ปกครองเปิดใจให้ลูกทำความรู้จักกับเกมรูปแบบใหม่นี้”
    ธัญสร ทิ้งท้ายว่า บอร์ดเกมไม่ใช่แค่ส่งเสริมความสัมพันธ์ให้กับครอบครัว แต่ยังทำให้พ่อแม่รู้จักและแลกเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กกล้าที่จะคุยกับคนอื่นมากขึ้น เช่น น้องๆ บางคนที่พาน้องชายขี้อายมาเล่นบอร์ดเกมด้วย กระทั่งน้องเริ่มพูดและเล่นกับคนอื่นมากขึ้น สรุปได้ว่า “บอร์ดเกม” เป็นทักษะการสื่อสารให้กับเด็กยุคใหม่ได้ด้วยค่ะ
    ด้าน คุณแม่เกด-จารุมาศ เหล่าเกียรติกุล เป็นหนึ่งในผู้ปกครองที่สนับสนุนให้ลูกชายเล่นบอร์ดเกม กล่าวว่า เกือบ 4 เดือนแล้วที่ตนและลูกมาเล่นบอร์ดเกมที่ TK park ด้วยกันเป็นประจำทุกเดือน เพราะเข้าใจดีว่าบอร์ดเกมเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่จะช่วยเสริมทักษะในชีวิตประจำวันให้กับลูกได้
    “ลูกชายชอบเล่นเกม เราก็เลยสนับสนุนให้ลูกเล่นบอร์ดเกม เพราะดีกว่าปล่อยให้ลูกเล่นในมือถือ บอร์ดเกมไม่ได้ให้แค่ความสนุก แต่เสริมทักษะให้ลูกเราด้วย อย่างน้อยๆ ก็ฝึกการเข้าสังคม บอร์ดเกมเป็นเหมือนสังคมจำลองที่เด็กจะได้ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การแก้ปัญหา การสังเกต หรือกระทั่งการเผื่อแผ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย ตอนลูกยังเล็กเคยทำบอร์ดเกมง่ายๆ ให้ลูกเล่น เป็นการ์ดเกมตัวเลขใช้ฝึกการนับเลข เรียงจำนวน พอครั้งแรกที่มา TK park ก็ได้เล่นเกม Davinci เป็นเกมตัวเลขที่คล้ายกับที่เคยทำให้ลูกเล่นตอนเด็กๆ พอกลับบ้านเราก็เลยเอาของเก่ามาปรับการ์ดเพิ่มให้ครบตามเกม แล้วเอาไว้เล่นกันที่บ้าน เมื่อก่อนบ้านเราก็แค่นั่งดูทีวีด้วยกัน หรือทานอาหารด้วยกัน แต่พอมีบอร์ดเกม ครอบครัวก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เราในฐานะพ่อแม่ก็ได้เฝ้าสังเกตพัฒนาการลูกผ่านการเล่นเกมกับเขานี่แหละ แล้วก็เห็นว่ามันได้ผลดีทีเดียว”
    สำหรับกิจกรรม TK Board Game Club จัดเป็นประจำต่อเนื่องทุกๆ วันเสาร์ที่ 2ของเดือน แต่ในช่วงวันเสาร์ที่ 23-วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2560 นี้ TK park จะมีการจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นคือ TK Board Game Festival เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับทุกคนที่สนใจและเกี่ยวข้องกับบอร์ดเกม ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นทุกวัย ผู้ผลิต ผู้พัฒนา หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้มารวมตัวกันเพื่อทดลองเล่น เรียนรู้ แข่งขัน ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.tkpark.or.th หรือทาง Facebook : TK park อุทยานการเรียนรู้.//.
  •           อ้างอิง  http://www.thaipost.net/home/?q=node/35207

เด็กไทย VS ภาษาไทย สู่ยุค 4.0 ต้องเริ่มที่ครู ปรับการเรียนการสอนแบบใหม่


         ในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การศึกษาไทยก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรได้รับการพัฒนาควบคู่ไปด้วย ซึ่งหากนับในเรื่อง "ภาษา" การใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ "ภาษาไทย" ที่เป็นรากเหง้าของคนไทย เป็นภาษาประจำชาติ ที่ยังมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

  
       เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 บริษัทอักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการ "ภาษาไทย ภาษาชาติ" ตามกรอบแนวคิด สมรรถนะภาษาไทยกับการพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนไทย สู่การศึกษาประเทศไทย 4.0 ซึ่งภายในงานมีทั้งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งคณาจารย์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เข้าร่วมสัมมนา

         ประเด็นในการสัมมนาตลอดทั้งวัน เน้นในเรื่องการพัฒนาผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนสู่การศึกษาประเทศไทย 4.0 เริ่มต้นที่บทบาทของครู นับเป็นความท้าทายใหม่ของครูภาษาไทย ที่ควรปรับให้เป็นการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) เพื่อกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของนักเรียน เมื่อผู้เรียนเกิดความสนใจใฝ่รู้จะสามารถสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ สามารถใช้ "ภาษาไทย" เพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง ในยุคที่ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ไม่ใช่แค่ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ยังต้องมีทักษะการวิเคราะห์ และประยุกต์ได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่เป็นสากลที่พึงประสงค์ของเด็กยุคใหม่


     "ภาษาไทยเป็นภาษาที่สำคัญ เพราะคนไทย ไม่ว่าจะคิดหรือทำอะไร จะอยู่ในพื้นฐานของภาษาไทย การเรียนในวิชาอื่นๆ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ผู้เรียนต้องคิด ซึ่งการคิดให้ได้ดี ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ภาษาที่ดี ถ้าเราทำให้เด็กมีพื้นฐานการใช้ภาษาที่แม่นยำ ก็จะทำให้เด็กสามารถคิดได้ดี และจะต่อยอดไปเรื่องต่างๆ ที่จะนำพาประเทศไทยไปเป็นประเทศไทย 4.0 ได้ การเรียนภาษาไทย ไม่ใช่เรียนเพื่อพูดเป็น สะกดเป็น แต่ต้องเรียนเพื่อให้สื่อสารอย่างมีคุณภาพ ดังนั้นภาษาไทยจึงจำเป็นมากนายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)


 
        นอกจากนี้ อาจารย์ดวงใจ บุญยะภาส ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังได้ฝากถึงเรื่องการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องทั้งในบทบาทของครูและนักเรียน "เมื่อเรายังใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกันอยู่ ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย ทั้งคุณครูผู้สอน นักเรียน รวมทั้งสื่อมวลชน แม้จะมีสื่อโซเชียลต่างๆ แต่ถ้าครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนโดยใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง นักเรียนก็จะซึมซับได้ ต่อให้ภาษาไทยจะมีคำวัยรุ่น คำสแลง เกิดขึ้นมากมาย แต่คำเหล่านี้อยู่ได้ไม่นานก็จะหายไป แต่ภาษาที่ถูกต้องมันจะยังคงอยู่ สพฐ. เอง จึงมีนโยบายให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้องอยู่เสมอ"