วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561

สื่อสร้างสรรค์ ปี4 กับการพัฒนาเด็กยุค 4.0

‘วัยเด็ก’ เป็นช่วงวัยที่สมองของคนเราพัฒนาได้มากที่สุด ดังนั้นพ่อแม่และคนใกล้ชิดจึงเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องทุ่มเทและตักตวงเวลาคุณภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูกๆ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการปฐมนิเทศครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ปีที่4 เพื่อเสริมศักยภาพ เติมความรู้ แก่คุณครูผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้สื่อ กิจกรรม และพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีครบทุกด้าน และเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม โดยการอบรมในปีนี้มีครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เข้าอบรมกว่า 120 คน ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ
โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงการดำเนินงานว่า โครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” เกิดจากการทำงานของ 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ว่าจะเป็น กาย จิต สังคม ปัญญา จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนมีสุขภาพที่ดี โดยดำเนินงานผ่านยุทธศาสตร์ “เมือง 3 ดี วิถีสุข” ได้แก่ “สื่อดี” คือ เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิตจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคม อารมณ์และสติปัญญา “พื้นที่ดี” คือการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม รวมไปถึงสนามเด็กเล่นที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ และ “ภูมิดี” คือการนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผนวกกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาร่วมด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเสริมว่า จากการประเมินพัฒนาการเด็กที่เข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปี 2560 ใน 7 ด้าน โดยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กเล็ก ผ่านการทำกิจกรรมประจำวัน พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น ที่เห็นได้เด่นชัดเจนที่สุด 4 อันดับแรก คือ 1.ด้านความสัมพันธ์ เด็กจำนวนมากรู้จักสร้างความผูกพันกับผู้อื่นมากขึ้น มีทักษะในการสื่อสาร และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ จากเดิมก่อนร่วมโครงการอยู่ที่ร้อยละ 45.85 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70.95 2.ด้านอารมณ์ เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีพฤติกรรมรังแกเพื่อน สัตว์ หรือทำลายข้าวของ มีความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าที่จะแสดงออก จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 40.66 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.94 3.ความฉลาดรู้ทางด้านกิจกรรมทางกาย เด็กเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่ว ทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ และมีความสนใจเรียนรู้จากกิจกรรมที่ครูจัดให้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.09 เป็นร้อยละ 71.5 และ 4.ความฉลาดรู้ทางด้านโภชนาการ เด็กในศพด. ส่วนใหญ่ไม่กินขนมขบเคี้ยวและขนมที่มีรสหวาน กินผักผลไม้ทุกวัน ที่สำคัญคือเด็กๆ สามารถบอกประโยชน์และโทษของอาหารได้ จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 32.59 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57
ด้าน พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก รพ.รามาธิบดี กล่าวให้คำแนะนำถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัยในยุค Thailand 4.0 ว่า ทุกคนล้วนเลี้ยงดูลูกของตัวเองด้วยความรัก ความห่วงใย แต่ด้วยปัจจุบันสังคมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งหมายถึงมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้การดำรงชีวิตของคนเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กที่จะเติบโตไปในวันข้างหน้าให้สามารถดำรงชีวิตได้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และคนใกล้ชิด จึงต้องร่วมมือกันสร้างคุณลักษณะที่ดีให้ลูกๆ เพื่อให้เขาสามารถรับมือกับโลกในอนาคต
พญ.นิชรา กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อว่า การจะสร้างคุณลักษณะที่เหมาะกับยุค 4.0 ให้ลูก สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทางด้านสมองของลูก เพราะสมองของเด็กจะถูกพัฒนามากที่สุดในช่วง 2-6 ปีแรก ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนา คือ 1.อาหาร คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยไอโอดีนและธาตุเหล็ก 2.การเลี้ยงดู 3.สภาพแวดล้อม หมายถึง คน สถานที่ สื่อ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก 4.การเรียนรู้ ซึ่งถ้าเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมมากเท่าไรก็จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ได้เท่านั้น  

นอกจากการอบรมและกิจกิรรมต่างๆ ที่วิทยากรจัดขึ้น ในปีนี้ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวันเรียนที่ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์ต้นแบบ มาเป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่เป็นศูนย์พี่เลี้ยง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะในการจัดกระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ น.ส.ชนณิกานต์ บุญมาเลิศ คุณครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เล่าว่า เนื่องด้วยศพด.อยู่ในพื้นที่เขตเมืองทำให้มีเด็กจำนวนมาก และอาจทำให้มีอุปสรรคในหลายๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และจากการเข้าอบรมทำให้เกิดผลลัพธ์มากมาย ทั้งได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก รู้จักเทคนิคที่ช่วยสร้างเข้าใจในความต้องการของเด็ก เมื่อนำความรู้กลับมาใช้ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัด คือ เด็กๆ มีความสุขที่จะมาโรงเรียน สนุกที่ได้เรียนรู้และทำกิจกรรม กล้าแสดงออกและรู้จักระวังตัวต่อคนแปลกหน้า
“จากการเข้าร่วมโครงการและการทำงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ศพด.หนองจอก ได้รับให้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กต้นแบบ โดยการทำหน้าที่เป็นศูนย์พี่เลี้ยง เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะต่างๆ ขยายผลสู่ศูนย์ใกล้เคียงในพื้นที่ และในฐานะที่เราเติบโตมากับโครงการก็คาดหวังให้งานเกิดความยั่งยืน เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง ถูกใจ และถูกวิธี” คุณครูชนณิกานต์ เผย
ขณะที่ นางบัวพันธุ์ ศรีตระกาน คุณครูศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จ.มุกดาหาร เล่าว่า ปัจจุบันศพด.มีเด็กจำนวน 28 คน และด้วยเป็นพื้นที่ต่างจังหวัดและมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ทำให้อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนในการพัฒนาเด็กไม่เพียงพอเท่าที่ควรบวกกับทางศพด.มุกดาหาร เห็นว่าโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของสสส. ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ที่สอนการทำสื่อจากวัสดุเหลือใช้มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ จึงเป็นจุดที่ทำให้ทางศพด. ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อหวังจะนำความรู้ที่ได้กลับไปใช้และพัฒนาเด็กๆ ต่อไป
เพราะเด็กถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นผู้ใหญ่ทุกคนจึงมีหน้าที่ร่วมกันผลักดันให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น